chaicatawan

เที่ยวตามรอยธรรมะพระราชา.. เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน

 
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมทริปเที่ยวตามรอยธรรมะพระราชา ที่กลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก ซึ่งมี 4 จังหวัดคือ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน จัดโดยสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย

 
ทริปนี้เราเดินทางโดยสายการบินนกแอร์

 

ถึงสนามนามบินนานาชาติเชียงราย  หลังจากนั้นเดินทางโดยรถตู้ไปที่ชุมชนท่องเที่ยว ชุมชนบ้านแซว  อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย

 
ชุมชมบ้านแซว  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว ปัจจุบันกำลังพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแนววิถีชีวิตริมฝั่งโขงรองรับนักท่องเที่ยว สามารถล่องเรือชมบรรยากาศธรรมชาติ 2 ฝั่งแม่น้ำโขง และสัมผัสบรรยากาศช่วงเช้าพระอาทิตย์ขึ้นและตก พร้อมมีโฮมสเตย์ให้นอนพัก


 
ชุมชนบ้านแซว มีถิ่นกำเนิดมาจากชาวภาคอีสานที่ได้ย้ายถิ่นฐาน มาอยู่รวมกันมากว่า 60 ปี วันนี้มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเป็นอีสานล้านนา มีทั้งเรื่องของ การแต่งกาย อาหารพื้นถิ่น  อาทิ แจ่วบอง  แกงหยวกกล้วย  อ่อมผัก  และศิลปะการแสดง ฟ้อนรำ  รำดีดไห  หมอแคน หมอรำระทาน  รวมถึงวิถีการใช้ชีวิตลำน้ำโขง

 
จากนั้นนั่งรถอีต๊อกออกจากริมฝั่งแม่น้ำโขง ไปชมสวนเกษตรเสาวรสปลอดสารเคมี ปลูกส่งโครงการหลวง เป็นสวนเกษตรตามรอยพ่อ เกษตรกรที่นี่ปลูกแบบพออยู่พอกิน ผลผลิตเหลือแล้วค่อยจำหน่าย ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวอาจไม่มีผลเสาวรสเพียงพอต่อการรับรองจำนวนนักท่องเที่ยว

 
น้ำคลอโรฟิล จากใบชาถั่วดาวอินคาที่มี สรรพคุณและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ ช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์


 
เที่ยงรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของชุมชนบ้านแซว

 
อิ่มแล้ว  เราก็เดินทางสู่ ชุมชนศรีดอนชัยไตลื้อ  อำเภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย

 
ชุมชนศรีดอนชัยไตลื้อ เป็นชุมชนตามรอยพ่อด้วยเศรษฐกิจพอเพียง  มีรถรางนำชม “พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ” นำโดยพ่อหลวงสมชาย  วงศ์ชัย  บรรยายเล่าเรื่องราว ความเป็นมาของชุมชนศรีดอนชัย ไตลื้อ  ชมบ้านโบราณของชุมชนไตลื้อ ที่เป็นศูนย์วัฒนธรรมไตลื้อ ชมศิลปะการทอผ้าฝ้ายเป็นลวดลายบนผืนผ้าอันวิจิตร



 


 
เข้าชมพิพิธภัณห์ลื้อลายคำ



 
และชมการแสดงจากชนเผ่าไตลื้อ ใช้เวลา 30 นาที   พร้อมรับประทานอาหารว่าง จากผลิตภัณฑ์ชุมชน  อาทิ ศูนย์พัฒนาสตรี ไทลื้อ การทอผ้าและการตัดเย็บเสื้อผ้าชุดไตลื้อ


 

หลังจากนั้น  เดินทางสู่อำเภอภูซาง  จังหวัดพะเยา


 
ชุมชนปงใหม่ ชุมชนตามรอยพ่อด้วยเศรษฐกิจพอเพียง    อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ชมสวนฮอมพญา หรือสวนสมุนไพร โรงสีข้าวกล้อง แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน การตีเหล็กและชมการแสดงกลองยาว  ระบำชาวชนเผ่า และฟาร์มเห็ดที่นำมาแปรรูปจำหน่ายเพื่อสุขภาพ


 

 

จากนั้นเดินทาง สู่โรงแรมที่พัก ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
 


วันที่ 2 พะเยา – แพร่

 
โรงเรียนฝายกวางวิทยาคม จ.พะเยา
 
วันที่2เราเริ่มที่ทริปกันที่ โรงเรียนฝายกวางวิทยาคม จังหวัดพะเยา


 
ที่นี่เป็นชุมชนต้นแบบเดินตามรอยพระราชา นำเสนอ ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาการศึกษา ศาสตร์พระราชาและ ความหลายหลายทางวัฒนธรรมชนเผ่า ของอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา



 
เราได้ร่วมทำกิจกรรม CSR โดยการมอบอุปกรณ์และเสื้อผ้าให้นักเรียน และชมการแสดง 5 ชาติพันธุ์จากนักเรียนโรงเรียนฝายกวางวิทยาคม



 
ชุมชนบ้านหนองกลาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
 
พระธาตุภูปอ

เริ่มจากไปไหว้พระธาตุภูปอ บ้านหนองกลาง อ.เชียงม่วน ซึ่งพระธาตุอยู่บนยอดเขาสูง มีองค์เทวดากว่า 1,000 องค์อยู่ล้อมรอบพระธาตุ


 
สามารถชมวิวสวยๆได้แบบ360 องศา โดยเฉพาะวิวเมืองเชียงม่วน ชมได้แบบเต็มๆ


 
ล่องแก่งหลวง
ชมจุดล่องแก่ง ไฮไลท์ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเชิงนิเวศของชุมชน



 
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์เชียงม่วน




 
รับประทานอาหารกลางวัน ในชุมชนแบบพื้นถิ่น


 
ชุมชนทุ่งโฮ้ง

 
หลังจากนั้นออกเดินทางไปยังชุมชน ทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่


 
เราได้เข้าชมศูนย์การเรียนรู้ การย้อมผ้าจากต้นฮ่อม ที่โอไอซ์ฟาร์ม ได้ชมการสาธิตการย้อมสีผ้ามัดย้อมและร่วมทำกิจกรรม ย้อมผ้าด้วยตัวเอง



 
ชุมชน ไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

 
เราไปต่อกันที่ ชุมชนไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ได้พบคุณศรีนวล ก๊กไม้ ผู้ใหญ่บ้าน บรรยายความโดดเด่นของชุมชน อาทิ ที่มาของต้นสักเป็นถิ่นกำเนิดเสาโล้ชิงช้าในกรุงเทพ จนถึงปัจจุบันนี้


 
ที่ชุมชนไทรย้อย มีโฮมสเตย์ให้บริการด้วย ราคาหัวละ 300 บาท แถมข้าวต้มกับกาแฟตอนเช้าด้วย วิวนาข้าว ชิวๆ สวยมากครับ


 
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อ เช่น ข้าวสาร กลอยทอด กลอยนึ่ง รวมถึงงานจักรสาน ผ้าค้นมือ ฯลฯ


 
 
จากนั้นเดินทาง สู่จังหวัดน่าน
เข้าพักที่โรงแรมเวียงแก้ว ใกล้กับวัดพระธาตุแช่แห้ง

 
วันที่ 3
วันที่3 เราทานอาหารมื้อเช้า ที่ห้องอาหารโรงแรมเวียงแก้ว จ.น่าน


 
จากนั้นก็ออกเดินทางไปที่ ชุมชนห้วยพ่าน อำเภอ เชียงกลาง จังหวัดน่าน

 
ชุมชนบ้านห้วยพ่าน ตั้งอยู่ในหุบเขา มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน การเดินทางเข้าไปยังชุมชนนี้ ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น


 
ที่นี่เป็นชุมชนที่ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกข้าวแบบนาขั้นบันไดตามแบบวิถีท้องถิ่น


 
มีฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9


 
เน้นการเรียนรู้ด้วยห้องเรียนธรรมชาติ โดยมีศูนย์การเรียนรู้ที่ทำด้วยดิน ซึ่งชาวบ้านสร้างเป็นโรงเรียนดินสำหรับให้เด็กนักเรียนได้เรียนหนังสือ และยังมีพื้นที่ทางธรรมชาติให้ศึกษาอีกมากมาย




 
เด็กๆกำลังเล่นกันอย่างสนุก


 
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวได้ โดยจะมีการล่องแก่งชมธรรมชาติ ส่วนที่พักก็มีทั้งโฮมสเตย์แบบจริงๆ (พักที่บ้านของชาวบ้าน ) รวมถึงลานกางเต็นท์บริเวณสนามใกล้โรงเรียน ซึ่งมีน้ำตกเล็กๆไหลผ่าน


 
ช่วงบ่ายเราเดินทางกลับสู่ อำเภอเมืองน่าน ที่ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน เพื่อไปชมเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ที่บ้านจ่ามนัส ติคำ ซึ่งเป็นเตาเผาโบราณที่มีอายุมากกว่า 700 ปี


 
จากนั้นก็เข้าชม พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับเตาเผาโบราณ

 
แล้วก็มาที่ แหล่งเรียนรู้ชุมชน คนปั้นดินถิ่นฐานโบราณคดี ของกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาชุมชนบ่อสวก




 
เวลา 17.30 น. เดินทางสู่สนามบิน จังหวัดน่าน และเวลา 18.40 น. เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสายการบิน NOK AIR

 
เที่ยวไปยิ้มไป เมืองไทยของเรา
จากใจ ..ชายคาตะวัน
 

Comments

comments

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *