chaicatawan

เที่ยวศรีสะเกษ เยือน 4 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

เที่ยวศรีสะเกษ เยือน 4 ชุมชนท่องเที่ยว OTOPนวัตวิถี
 
วันก่อน ผมขับรถไปเที่ยวภาคอีสานบ้านเกิดผมเอง แต่จังหวัดที่ไปเที่ยวไม่ใช่บ้านเกิดครับ แต่คือจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดทางภาคอีสานตอนใต้ ที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคยนัก

ครั้งนี้เป้าหมายหลักคือไปเที่ยวชุมชน 4 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของจังหวัดศรีสะเกษ นั่นคือ
1.ชุมชนหมู่บ้าน ซำขี้เหล็ก ต.พราน อ.ขุนหาญ
2.บ้านหว้าน ต. น้ำคำ อ.เมือง
3 บ้านละทาย ต.ละทาย อ.กันทรารมย์
4 บ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์
 
ทั้งนี้เป็นการดำเนินงานของ กรมการพัฒนาชุมชน ที่เดินหน้าขับเคลื่อน ไทยนิยมยั่งยืน พัฒนาสินค้าโอทอป ยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน เป็นการสร้างตลาดใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน กระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน




การเดินทางครั้งนี้ ผมและทีมงานขับรถยนต์คู่ใจไปครับ ใช้เส้นพหลโยธิน เลี้ยวขวาสระบุรี แล้วแยกใช้เส้นหมายเลข 24 ที่สีคิ้ว ขับยาวมาเรื่อยๆ ใช้กูเกิ้ลแม็บนำทางครับ
 
วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด)
ก่อนถึงชุมชนหมู่บ้านแรก บ้านซำขี้เหล็ก ผมแวะไว้พระที่วัดล้านขวดก่อน



 
เป็นวัดที่สร้างด้วยขวดจำนวนมหาศาล สร้างเมื่อปี2527 ผมว่าน่าจะใช้ขวดเกินล้านขวด (หรือเปล่า ) นะครับ เพราะที่สร้างไปแล้วก็เยอะ และกำลังทำอีกก็มาก เรียกว่าทุกจุดมีขวดเป็นตัวหลักครับ งดงามและแปลกตาดีครับ


…..
 
ชุมชนหมู่บ้าน ซำขี้เหล็ก ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ
หลังจากนั้นมาที่บ้านซำขี้เหล็กครับ


 
ที่นี่โดดเด่นเรื่องสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟ ดังไปทั่ว ผมได้ไปพบท่านกำนันธนกฤต ที่จุดเช็คอิน ของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ท่านพาไปชมต้นทุเรียนต้นที่ยังออกลูกอยู่ ซึ่งมีไม่กี่ต้นแล้ว เพราะวันผมไปหมดหน้าทุเรียนไปนานแล้วครับ


<a


 
ทุเรียนที่นี่ปลูกบนดินภูเขาไฟ ซึ่งดินจะเป็นสีแดง มีความอุดมสมบูรณ์ ทุเรียนจึงออกผลดี และรสชาติอร่อย


 
นอกจากทุเรียนแล้ว ที่ซำขี้เหล็กก็มีผลไม้อื่นๆอีก รวมถึงยางพารา ที่ปลูกมากพอสมควร เราจะเห็นต้นทุเรียน และต้นยางเต็ม 2 ข้างทางเลยครับ สินค้าโอท็อปของที่นี่ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรเป็นหลัก

 
จุดชุมวิวผามออีแดง
หลังจากอำลาบ้านซำขี้เหล็กแล้ว ผมขับต่อไปนอนเต็นท์ที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อ.กันทราลักษณ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกล กางเต็นท์ใกล้ศาลา ซึ่งที่ศาลามีปลั๊กไฟให้ใช้ครับ


 
ตอนค่ำก็หามุมถ่ายดาว ถ่ายทางช้างเผือกครับ ถ่ายใกล้ๆเต็นท์นี่แหละครับ ได้คุณเก๋ โดนตรวล เจ้าหน้าที่อุทยานเป็นไกด์พาหามุมถ่าย พร้อมแนะนำความรู้การถ่ายดาวให้ด้วย


 
ตอนเช้าก็ขึ้นไปดูหมอก ที่จุดชมวิวผามออีแดง ซึ่งห่างจากจุดกางเต็นท์ประมาณ 8 กม. ได้พระอาทิตย์สวยๆ แต่หมอกมาแค่จางๆครับ บรรยากาศดี เย็นกำลังสบายครับ


 
ปราสาทโดนตรวล
จากผามออีแดง มีจุดเที่ยวอีกจุดคือ ปราสาทโดนตรวล ขับรถเข้าไปไม่ไกล มีจุดชมวิวด้วยครับ


 
พระธาตุเรืองรอง วัดบ้านสร้างเรือง อ.เมือง
หลังจากนั้นสายๆก็เดินทางต่อไปยังบ้านหว้าน อ.เมือง ใช้กูเกิ้ลแม็บนำทางได้ สะดวกดีครับ ก่อนถึงชุมชนบ้านหว้าน ผมแวะไหว้พระธาตุเรืองรอง ที่วัดบ้านสร้างเรืองก่อนครับ พระธาตุเรืองรองสร้างแบบศิลปะพื้นบ้านสี่เผ่า ได้แก่ เยอ ส่วย เขมร และลาว


 
วัดบ้านสร้างเรือง มีที่พื้นที่กว้างใหญ่มากๆ เป็นวัดดังของจังหวัดศรีสะเกษ บนยอดพระธาตุเรืองรองเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า


……
 
ชุมชนท่องเที่ยว บ้านหว้าน ต.น้ำคำ อ.เมือง
จากนั้นมุ่งหน้า บ้านหว้าน ต.น้ำคำครับ แหล่งรวมจุดสำคัญของบ้านหว้าน คือวัดพระธาตุสุพรรณหงส์ ที่มีโบสถ์อยู่บนเรือสุพรรณหงส์กลางน้ำ

 

ภาพเรือสุพรรณหงส์และโบสถ์ยามเช้าครับ


 
พอแดดเริ่มสาดส่อง เราบินเก็บภาพมุมสูง



 
ชาวบ้านหว้าน มีเชื้อสายชาติพันธุ์ลาว จะมีตลาดนัดโบราณทุกๆวันอาทิตย์ที่วัดพระธาตสุพรรณหงส์ และมีประเพณีดั้งเดิมคือคุกเข่าใส่บาตร ต่อมาก็ได้พัฒนาการสืบสานประเพณี โดยให้ผู้ชายนุ่งโสร่ง ผู้หญิงสวมซิ่นและผ้าไทยมาใส่บาตรในตอนเช้าวันอาทิตย์

 

สินค้าโอท็อปของบ้านหว้าน ก็มีผ้าไทยสวยๆ ผ้าไหมพื้นเมือง เครื่องจักสานจากไม้ไผ่และจากเส้นพลาสติก ขนมต่างๆ เช่น กล้วยฉาบ


 
ผมพอมีเวลา จึงได้เดินชมหมู่บ้าน ได้เห็นวิถีชีวิตชาติพันธุ์ลาว บ้านหว้าน


 
นอกจากนี้ยังได้เดินชมตลาดโบราณในเช้าวันอาทิตย์ ได้ชิมอาหารพื้นบ้านหลายอย่าง และเห็นชาวบ้านหว้านแต่งกายชุดไทยมาวัด บ้างก็มาซื้อของ บ้างก็มาถ่ายภาพ มาทำบุญใส่บาตร เป็นภาพที่ผมประทับใจจริงๆครับ มีทั้งคนหนุ่มสาว และผู้เฒ่าผู้แก่


 
ที่บ้านหว้าน ผมนอนโฮมเสตย์แบบแท้ๆครับ เป็นบ้านของพี่กลุ่มทำขนม อยู่หน้าวัดพระธาตุสุพรรณหงส์เลยครับ จำชื่อพี่เจ้าของบ้านไม่ได้ แฮ่ๆ


…..
 
บ้านละทาย ต.ละทาย อ.กันทรารมย์
จากบ้านหว้าน ผมบึ่งรถต่อครับ ไปบ้านละทาย หมู่1 ต.ละทาย อ.กันทรารมย์ จุดเช็คอินคือวัดละทาย ซึ่งเมื่อมาถึงจะเห็นพระใหญ่พุทธละทาย งดงามโดดเด่น

 

เมื่อไหว้พระใหญ่แล้วก็เข้าไปไหว้หลวงปู่เพ็งซึ่งท่านละสังขารไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

 
ชุมชนบ้านละทาย เป็น 1 ใน 4 ของหมู่บ้าน4 เผ่าไทยจังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านละทาย สืบเชื้อสายมาจากชาวจังหวัดอุบลราชธานี ที่อพยพมาจากนครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบาน ไปจำปาสักเมื่อปี2523 และอพยพมาอยู่ที่อุบล แล้วจึงมีการแบ่งผู้คนมาตั้งถิ่นฐาน ที่บ้านละทาย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ


 
ชาวบ้านละทาย มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตที่แสดงความเป็นชาติพันธุ์ลาวอย่งโดดเด่นคือการแต่งกาย อาหารพื้นบ้าน และมีภาษาถิ่นของตัวเอง มีประเพณีบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ ขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม ผลิตภัณฑ์โอท็อปที่โดดเด่นคือการทอผ้า และผ้าไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์จักสาน



 
ผู้สนใจมาเที่ยว ก็สามารถมาได้ทั้งแบบเดี่ยว และแบบกลุ่ม มีโฮมสเตย์ให้พัก ถ้ามาเป็นกลุ่ม 50 คนขึ้นไป จะมีการแสดงฟ้อนกลองตุ้ม เซิ้งวัฒนธรรมเผ่าลาว กราบนมัสการพระใหญ่พุทธละทาย รวมถึงกิจกรรมพาแลง ราคา 500 บาทต่อคน

 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มที่ท่านกำนันชาญ ประสานพันธ์ กำนันต.ละทาย 093 448 1211 และนายสวัสดิ์ ธนะศรี ส.อบต.ละทาย 084-829-8375 และ090 -0905944

 
หาดนางเหงา
ที่บ้านละทาย เราได้ทานอาหารยอดนิยมคือตำถั่วกับปลานิลเผาตัวโตๆ นั่งชิวๆในแพแม่น้ำมูล ซึ่งตรงนี้เรียกว่า หาดนางเหงา



……
 
ชุมชนบ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์
บ้านหัวนา เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมลาว ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี จุดเช็คอินของชุมชนบ้านหัวนา คือวัดจำปาบ้านหัวนา ภายในวัดมีจุดสวยๆให้ถ่ายรูป


href=”http://www.chaicatawan.com/wp-content/uploads/2018/11/7-2-1.jpg”>

 

ที่โดดเด่นคือพระธาตุกตัญญู ซึ่งมีลักษณะคล้ายพระธาตุพนม งดงามมาก สูง31 เมตร

<a

 
วัดจำปา เดิมชื่อวัดหัวนา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดจำปา เพราะในวัดมีต้นจำปาเก่าแก่ และชาวบ้านบ้านหัวนา ส่วนใหญ่เป็นคนลาวอพยพมาตามลุ่มน้ำโขงและเชื่อมต่อมายังแม่น้ำมูล

 
ใกล้กับวัด มีอุทยานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งขึ้นเมื่อปี2557 เป็นแหล่งเรียนรู้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกป่า ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ และใกล้กันมีป่ายางนาเก่าแก่ของชุมชนหัวนา มีต้นยางนาขนาดใหญ่ เป็นป่าเก่าที่มีตำนานจากรุ่นสู่รุ่น เดินชมก็ฟินๆ ร่มรื่นไม่ร้อน


 
ที่บ้านหัวนามีกลุ่มส่งเสริมอาชีพ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นสินค้าแปรรูปจากแม่น้ำมูล ปลาแดดเดียว ปลาร้า ปลาส้ม กลุ่มแม่บ้านจักสาน หัตถกรรมพื้นบ้าน การทอผ้า ผ้าทอเหยียบ ผ้าทอมือ กระเป๋า ผ้าขิด ผ้าฝ้าย ผัก ผลไม้จากศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง


 
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวบ้านหัวนาเพิ่มเติมได้ที่ 081-9976572 และ087-9865990
 
วัดไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์
ขากลับ ผมตั้งใจมากราบสรีระสังขารหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน ที่วัดไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ ผมได้เห็นความยิ่งใหญ่และสวยงามของวัดแล้วก็ทึ่งครับ วัดมีบริเวณที่กว้างใหญ่จริงๆ มีรถชัตเติ้ลบัสรับส่งจากลานจอดรถ


 
ที่เด่นสุดคือ มณฑปปราสาทหลวงปู่สรวง ซึ่งเป็นที่เก็บสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่ (ท่านละสังขาร เมื่อวันที่ 8 กันยา 2543 ครบรอบ 18 ปีในปี61 ) เป็นศิลปะแบบขอม สวยงาม ยามแดดดีๆฟ้าใสๆ ขับให้ตัววิหารงดงามโดดเด่นขึ้นมาอีก



 
หลังจากไหว้หลวงปู่สรวง และเดินชมวัดท่ามกลางแดดเปรี้ยงแล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางกลับ


 
อย่าลืมนะครับ ออกเดินทางไปท่องเที่ยว สัมผัสความเป็นท้องถิ่นอย่างแท้จริงได้ ตามชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทั่วไทย

 
เที่ยวไปยิ้มไป เมืองไทยของเรา
จากใจ.. ชายคาตะวัน
 

Comments

comments

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *